บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

พระอรหันต์อยู่ในอายตนะนิพพาน

ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์นายพายุช้างสารหรือ Ritti Janson ต่อไป ขอแทรกคำอธิบายไว้ก่อน ณ ที่นี้ว่า

คำว่า นิจจัง/สุขัง/อัตตานี้เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) คำประเภทนี้มีหน้าที่สำหรับอธิบายสภาพของคำนาม (noun) เช่นคำว่า เสื้อขาว  ขาวนั้นมีไว้เพื่อบรรยายสีของเสื้อ ดังนั้น ถ้ามีใครจะเขียนหรือพูดว่า "ไม่มีอัตตา" นั้น แสดงว่าไม่เข้าใจในหน้าที่ของคำ 

ตัวอย่าง
ถ้ามีคนบอกว่า "ประเทศไทยไม่มีหิมะ"  ประโยคนี้ถูกต้อง ทั้งในด้านธรรมชาติและภาษา เพราะ หิมะเป็นคำนาม  เราจึงปฏิเสธได้ว่า "ไม่มี"

แต่ถ้ามีคนกล่าวว่า ประเทศไทย ไม่มี "ขาว"  ประโยคนี้ไม่ถูกต้อง เพราะ "ขาว" เป็นสภาวะหรือสภาพ เราไม่สามารถบอกว่า คำคุณศัพท์ (adjective) ไม่มี

ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ พระไตรปิฎกเมื่อกล่าวถึงนิพพานจะใช้คำว่า "อายตนะ", "อมตนิพพาน", และ "นิพพาน"   ไม่ได้ใช้คำว่า "อายตนะนิพพาน"  คำว่าอายตนะนิพพานนั้น ขอย้ำอีกครั้งเป็นภาษาไทย

ถ้ากล่าวถึงหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อใช้คำ "อายตนะนิพพาน"  นี้ เพื่อหมายถึง "ที่" ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จะไป "สถิตอยู่"

ถ้าจะมีคำถามสงสัยว่า ทำไมพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จะต้องมี "ที่" สำหรับพระองค์และพระอรหันต์สาวก  ก็ขออธิบายว่า เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้น

สำหรับคำอธิบายต่อไปนี้ ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับกฎของทางวิทยาศาสตร์  คือ กฎการเคลื่อนที่ของฟิสิกส์ มีหลักการที่เป็นพื้นฐานโดยทั่วไปว่า

กฎการเคลื่อนที่ของฟิสิกส์เป็น จริงเสมอในทุกแห่งทุกสถานที่ ไม่มีสถานที่ไหนในเอกภพ (Universe) ที่จะพิเศษกว่าสถานที่อื่นที่จะทำให้ฟิสิกส์ของการเคลื่อนที่เป็นจริงเฉพาะ สถานที่ดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีบริเวณใดที่เราต้องดัดแปลงกฎการเคลื่อนที่ทางฟิสิกส์ให้สอดคล้องกับ ความเร็วของสถานที่นั้น (ที่มา: ไพรัช ธันยพงษ์. 2549. ไอน์สไตน์ หลุมดำ และบิกแบง. หน้า 19)

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้

สมมุติว่าเรามีลูกเทนนิสอยู่ในมือ  เมื่อเรานั่งอยู่ที่บ้าน เราโยนลูกเทนนิสขึ้นไปในแนวดิ่ง  ลูกเทนนิสก็จะตกลงมาในแนวดิ่ง เข้ามาอยู่ในมือเราเช่นเดิม

ต่อมาสมมุติว่า เรานั่งอยู่บนรถไฟ  ถ้าเราโยนลูกเทนนิสขึ้นไปในแนวดิ่ง ลูกเทนนิสก็ยังตกลงมาในมือเราเหมือนเดิม  ทั้งๆที่ ลูกเทนนิสควรจะตกลงไปกับพื้นรถไฟ เพราะรถไฟกำลังเคลื่อนอยู่

ถ้ายังมองภาพไม่ออก เพราะรถไฟถึงแม้จะเร็ว แต่ก็ยังช้าอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วของแสง  ต่อไปสมมุติว่า เรากำลังนั่งอยู่บนจรวดที่มีความเร็วสูงมาก  สมมุติว่าใกล้ความเร็วของแสงเลย 

ถ้าเราโยนลูกเทนนิสขึ้นไป  ลูกเทนนิสก็ยังตกลงมาในมือเราเหมือนเดิม  เพราะเป็นไปตามกฎการเคลื่อนที่ของฟิสิกส์เป็นจริงเสมอในทุกแห่งทุกสถานที่  ทั้งๆ ที่โดยสามัญสำนึกแล้ว ลูกเทนนิสมันน่าจะตกห่างจากมือเราไปมาก

จากตัวอย่างทางฟิสิกส์ข้างต้น จะเห็นว่า มนุษย์เราก็ต้องการ "ภพ" เป็นที่อาศัย  เทวดา รูปพรหม อรูปพรหมก็ต้องการ "ภพ" เป็นที่อาศัย แม้กระทั่งสัตว์ในอบายภูมิก็ต้องการ "ภพ" เป็นที่อยู่อาศัย

แสดงว่า ที่อยู่อาศัยเป็นหลักการพื้นฐานของมนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม แล้วทำไม พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จึงจะไม่มีที่อยู่ที่อาศัย

เนื่องจาก พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ก็คือ มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหมนั่นเอง  แต่พัฒนาตนเองด้วยสมถะ/วิปัสสนากรรมฐาน จนใจ/จิต/วิญญาณพัฒนาไปจะหมดกิเลส

จะเห็นได้ว่า ความหมายของนิพพานนั้น ในบทความที่นำมาเสนอนี้มีความหมาย 2 ประการคือ
1) ความดับสนิทของกิเลสไม่มีเหลือเชื้อ/ทุกข์เป็นภาวะที่ปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
2) ไม่มีเครื่องทิ่มแทง ปราศจากเครื่องเสียดแทรก ปราศจากเครื่องร้อยรัด

ความหมายของนิพพานที่หมายถึงความดับสนิทของกิเลสเป็นความหมายโดยนัย/ความ หมายแฝง (Connotative meaning) ซึ่งในหลายๆ ที่มีผู้แปลความหมายให้แตกต่างไปอีกว่า หมายถึงความดับของนิพพานไปเลย

ความหมายนี้จึงเป็นที่มาของความเห็น/ความเชื่อที่ว่านิพพานสูญไปเลย  กลุ่มบุคคลที่มีความเห็น/ความเชื่อเช่นนี้ มักจะอยู่ภายใต้กรอบอิทธิพลของวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนที่ เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเพียงชาติเดียวเท่านั้น

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้า หรือบุคคลธรรมดาตายไปแล้วก็สูญไปหมด ไม่มีโอกาสเกิดใหม่ ไม่มีชาติหน้าหรือชาติไหนๆ ทั้งนั้น

สำหรับความหมายของนิพพานที่หมายถึงไม่มีเครื่องทิ่มแทง ปราศจากเครื่องเสียดแทรก ปราศจากเครื่องร้อยรัดนี่เป็นความหมายตรงตัว (Denotative meaning) ซึ่งเมื่อมีปัญหาที่ต้องถกเถียงกันเรื่องนิพพานก็ควรนำความหมายตรงตัวมาเป็นพยานหลักฐาน ไม่ใช่ไปนำความหมายโดยนัย/ความหมายแฝง (Connotative meaning) มาเป็นหลักฐานสนับสนุน ดังเช่น ความผิดพลาดของนายพายุช้างสาร หรือ Ritti Janson ที่จะกล่าวถึงต่อไป...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น