บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นิพพานมีอยู่



นิพพานกับหลักฐานในพระไตรปิฎก

ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ข้อความของนายพายุช้างสารต่อไป ผู้เขียนขอยกหลักฐานความมีอยู่ของนิพพานจากพระไตรปิฎก ดังนี้

1) นิพพานสูตรที่ 1 จาก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 ขุททกนิกาย อุทาน- ปาฏลิคามิย วรรคที่ 8 เขียนไว้ดังนี้

[158] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยนิพพาน

ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะวิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้าพระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น

ดูกรภิกษุ ทั้งหลายเราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไปหาอารมณ์มิได้นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ฯ

ข้อความจากพระสูตรข้างต้น มีแต่คำว่า [อายตนะ] แสดงว่า ในภาษาบาลีคำว่า [อายตนะ] ในพระสูตรนี้ หมายถึง นิพพาน 

ต้องเข้าใจด้วยว่า พระไตรปิฎกที่เรากำลังนำมาศึกษากันนี้ เป็นพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย  คือ แปลมาจากภาษาบาลี

หลักฐานจากพระสูตรข้างต้นแสดงให้เราทราบว่า [อายตนนิพพาน] เป็นภาษาไทย  หลวงพ่อวัดปากน้ำนำมาใช้เพื่อต้องการชี้เฉพาะให้ชัดเจนว่า

หลวงพ่อหมายถึง  "แหล่ง", "แห่ง", "ที่" ที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ไป "อยู่" เมื่อ "ละ" ขันธ์ห้าของมนุษย์นี้แล้ว

ข้อความจากพระสูตรดังกล่าวยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนอีกว่า ภาษาของมนุษย์ในโลกนี้ ไม่มี "คำ" ที่แสดงสภาพของนิพพานได้ 

การที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ "รู้" และ "เข้าใจ" นิพพานแล้ว  แต่ก็ไม่ทรงบัญญัติศัพท์สำหรับนิพพานโดยเฉพาะ ก็เป็นเพราะว่า สภาวะของนิพพานนั้น "แตกต่าง" จากสภาวะของภพสามโดยสิ้นเชิง

การบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ จึงไม่มีประโยชน์อันใด เพราะ ไม่สามารถจะสื่อความกับมนุษย์ทั้งหมายได้ 

พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จึงต้องใช้ภาษาที่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ให้เข้าใจได้  หลักการที่ว่านี้ ก็มีมากมายในพระไตรปิฎก

2) นิพพานสูตรที่ 3 จาก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 ขุททกนิกาย อุทาน- ปาฏลิคามิยวรรคที่ 8 เขียนไว้ดังนี้

[160] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้งเงี่ยโสตลงสดับธรรม ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ ฯ

พระสูตรนี้ เป็นข้อความที่ถัดมาจากจากพระสูตรที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น กล่าวคือ พระสูตรในตัวอย่างแรกเป็นนิพพานสูตรที่ 1 ส่วนพระสูตรนี้เป็นนิพพานสูตรที่ 3

ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้ายืนยันว่า นิพพาน "มีอยู่"  โดยทรงกล่าวว่า นิพพานเป็นธรรมชาติ ที่ไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว ปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว  "มีอยู่"

จะเห็นได้ว่า นิพพานสูตรที่ 1 และนิพพานสูตรที่ 3 ต่างก็ยืนยันว่า นิพพานมีอยู่  และมีอยู่อย่างคงที่ถ้าเปรียบเทียบกับภาษาของมนุษย์ในโลก 

การที่นิพพานมีอยู่อย่างคงที่ ก็ไม่มีอะไรที่จะไป "ดับนิพพาน" ได้ เพราะพระสูตรดังกล่าวเป็นพุทธพจน์ หลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ถ้า "ขัด" กับพุทธพจน์ก็ถือว่าใช้ไม่ได้

3) พระสุตตันตปิฎก เล่ม 22 ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส  เขียนไว้ดังนี้

[659] อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้น ตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า นิพพานอันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ในอุเทศว่า อสํหิรํ อสงฺกุปฺปํ ดังนี้.

คำว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ความว่า อันราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด  ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง นำไปไม่ได้ เป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้.

อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหาความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่านิพพาน อันไม่กำเริบ ในคำว่า อสงฺกุปฺปํ ดังนี้.

ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใด ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้. นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ

ข้อความในพระสูตรนี้ มีคำว่า "อมตนิพพาน" กับ "นิพพาน"  คำว่า "อมตนิพพาน" หมายความว่า นิพพานเป็นอมตะ และข้อความท้ายๆ ของพระสูตรก็ยังยืนยันอีกว่า นิพพานนั้น เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรปรวน

โดยสรุป

จากพระสูตรทั้ง 3 พระสูตรดังกล่าว จะเห็นว่า นิพพานเป็น "สิ่ง" ที่ยั่งยืน เป็นอมตะ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรปรวน  ถ้าจะเขียนอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า นิพพานเป็นนิจจัง/สุขัง/อัตตา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น